Last updated: 1 ก.ย. 2566 |
ไม้เอล์ม (榆木 ยวี๋มู่)
Siberian elm ; Ulmus pumila L.
เอล์ม เป็นต้นไม้พื้นถิ่นในเขตซีกโลกเหนือ มีมากกว่า 35 สายพันธุ์ทั่วโลก แต่สำหรับจีน ไม้ที่เรียกว่า ยวี๋มู่ ที่นิยมใช้ทำเฟอร์นิเจอร์มากที่สุดในจีนตอนเหนือ ตั้งแต่สมัยโบราณถึงปัจจุบันที่ทำเป็นอุตสาหกรรมส่งออก คือ Siberian elm เป็นต้นเอล์มชนิดที่พบมากในเอเชียตอนเหนือ เช่น จีน ธิเบต มองโกเลีย รัสเซีย ญี่ปุ่น เกาหลี โดย Siberian elm มีลวดลายสวยงาม แข็งแรง ทนต่อการขูดขีด
เราได้ค้นข้อมูลจากแหล่งต่างๆเพื่อเปรียบเทียบคุณสมบัติทางกายภาพระหว่างไม้เอล์มและไม้ไทย-ไม้นอกที่คุ้นเคยกันในงานก่อสร้างตกแต่งทำเฟอร์นิเจอร์ทั่วไป เพื่อให้เห็นภาพชัดเจน โดยใช้ข้อมูลหลักที่เป็นมาตรฐานสากล 3 ค่า คือ ความถ่วงจำเพาะ, ความแข็งแรงในการดัด และความแข็ง
1 ความถ่วงจำเพาะ (specific gravity)
คืออัตราส่วนความหนาแน่นของไม้กับความหนาแน่นของน้ำ เป็นคุณสมบัติที่รู้จักกันแพร่หลาย และทดสอบหาค่าได้ง่ายกว่าคุณสมบัติอย่างอื่น
2 ความแข็งแรงจากการดัด (static bending)
ดูที่ค่า M.O.R. เป็นค่าสัมประสิทธิ์ของการหัก หมายถึง แรงสูงสุดที่ทำให้ไม้แตกหักเสียหาย
3 ความแข็ง (hardness)
คือค่าความต้านทานต่อแรงกด การเสียดสี การขีดข่วน ทดสอบโดยการกดลูกปืนให้จมลงไปในเนื้อไม้ที่กำหนด
ตารางที่ 1 ข้อมูลอ้างอิงจาก หนังสือไม้เนื้อแข็งของประเทศไทย,กรมป่าไม้ และ United States Department of Agriculture (USDA)
ความถ่วงจำเพาะ
ไม้เอล์ม(siberian elm) มีค่าความถ่วงจำเพาะอยู่อันดับที่ 12 จากจำนวนไม้ 14 ชนิดที่เลือกมาเปรียบเทียบ จากตารางที่ 1 ด้านบนจะเห็นว่าไม้เอล์มมีความหนาแน่นใกล้เคียงกับไม้สัก
ความแข็งแรงในการดัด MOR
เนื่องจากเราไม่พบค่าความแข็งแรงในการดัดของไม้เอล์ม(siberian elm)ที่มีหน่วยเดียวกับข้อมูลจากกรมป่าไม้ไทยและกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา เลยขออ้างอิงข้อมูลจาก www.wood-database.com ตามตารางที่ 2 ด้านล่าง พบว่าไม้เอล์มมีความแข็งแรงในการดัดเป็นอันดับที่ 9 จากจำนวนไม้ 11 ชนิดที่เลือกมาเปรียบเทียบ อยู่ระหว่างไม้ประดู่และไม้ยางพารา
ตารางที่ 2 ข้อมูลจาก www.wood-database.com
ความแข็ง
ดูจากข้อมูลอ้างอิงทั้ง 2 ตาราง ไม้เอล์ม(siberian elm) มีความแข็งที่ผิว ความทนต่อการขูดขีดใกล้เคียงกับไม้สักจากป่าปลูกของไทย
ถ้าดูจากค่ากลสมบัติของไม้แล้ว จะเห็นว่าไม้เอล์มมีคุณสมบัติใกล้เคียงกับไม้สักและไม้ยางพารามากที่สุด โดยถ้าเทียบเฉพาะค่า MOR ที่กรมป่าไม้ใช้เป็นหนึ่งในตัวแปรจัดอันดับการเป็นไม้เนื้อแข็งหรือไม้เนื้ออ่อน จัดได้ว่าไม้เอล์ม (Siberian elm) ถือเป็นไม้เนื้อแข็งปานกลางเช่นเดียวกับไม้ยางพารา
เฟอร์นิเจอร์ไม้เอล์มเก่าที่ร้านหย่งเฟอร์นิเจอร์
ปัจจุบันทั้งไม้เอล์มเก่าและไม้เอล์มปลูกใหม่ถือเป็นไม้ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจของจีน คนจีนรุ่นใหม่หันมานิยมเฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากไม้เอล์มเก่า เหมือนที่คนไทยนิยมไม้สักเก่า ไม้เอล์มเก่าจะได้จากการรื้อบ้านจีนโบราณที่มีโครงสร้างหลังคาเป็นซุงท่อนเอล์ม เอามาแปรรูปทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ จะได้ไม้ที่มีคุณภาพสูง ยืดหดตัวน้อยมาก มีผิวสัมผัสและลวดลายสวยเป็นเอกลักษณ์ ที่ผ่านการกัดกร่อนจากลมฟ้าอากาศมาแล้ว
ท่อนซุงไม้เอล์มที่ได้จากการรื้อบ้านจีนโบราณ
ต้นเอล์มโบราณอายุ 800 ปีที่มณฑลเหอเป่ย
ความต้องการไม้เอล์มเก่าในตลาดมีสูงมาก สวนทางกับจำนวนวัตถุดิบที่มีน้อยลง ราคาไม้เอล์มเก่าจึงขยับตัวสูงขึ้นเรื่อยๆโดยไม่มีทีท่าว่าจะหยุด
27 มี.ค. 2560
15 มี.ค. 2567
29 ก.ย. 2560
10 ก.ค. 2566