Last updated: 10 ก.ค. 2566 |
ในบ้านจีนโบราณจะต้องมีโต๊ะไหว้ หรือโต๊ะบูชา (altar table) สำหรับวางป้ายบรรพบุรุษ หรือเทพเจ้าสำคัญที่นับถือ โดยตำแหน่งที่วางโต๊ะไหว้ จะอยู่ในห้องโถงใหญ่ หันหน้าตรงกับประตูทางเข้าบ้าน ถือเป็นห้องที่เป็นหัวใจสำคัญของบ้าน
โต๊ะไหว้หรือโต๊ะบูชาจีนแบบที่พบในไทย ส่วนใหญ่จะเป็นอย่างจีนตอนใต้ คือแบบฮกเกี้ยนหรือแต้จิ๋ว เอกลักษณ์ของโต๊ะไหว้แบบแต้จิ๋ว คือจะมีซุ้มไม้แกะสลักอย่างวิจิตรเป็นกรอบสวยงาม อย่างที่รู้กันว่าช่างแกะสลักไม้ชาวแต้จิ๋วนั้นมีฝีมือเป็นที่เลื่องลือในแผ่นดินจีน
ส่วนโต๊ะไหว้แบบฮกเกี้ยนจะพบมากในเมืองเก่าทางภาคใต้อย่างภูเก็ต สงขลา โดยจะมีรูปแบบคล้ายจีนทางเหนือ ลักษณะเป็นชุดโต๊ะ 2 ตัว ประกอบด้วยโต๊ะยาวหน้าแคบ (โต๊ะคอนโซล / console table) ตัวใหญ่ กับโต๊ะทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสสำหรับวางของไหว้ เป็นแบบเดียวกันกับโต๊ะไหว้ของบ้านในแถบปีนัง อาจจะต่างกันที่รายละเอียดความสวยงามเท่านั้น
(ขอบคุณรูปภาพจาก So Heng Tai)
โต๊ะไหว้ของบ้านโซวเฮงไถ่ ตลาดน้อย
ในรูปคือแกซิ้ง หรือป้ายบรรพบุรุษภายในห้องไหว้ของคฤหาสน์โซวเฮงไถ่แห่งตระกูลโซว ซึ่งอพยพจากฮกเกี้ยนมาตั้งรกรากในสยามตั้งแต่อยุธยา
ช่วงต้นรัตนโกสินทร์สกุลโซวถือเป็นครอบครัวที่มั่งคั่ง กว้างขวาง มีเครือญาติเป็นเจ้าของตึกหลายแห่งบริเวณตลาดน้อยในปัจจุบัน บ้านโซวเฮงไถ่ถือเป็นบ้านใหญ่จึงเป็นที่ประดิษฐานแกซิ้งของสกุล ไม่ใช่โต๊ะไหว้แบบบ้านทั่วไป
(ภาพจากหนังสือ Chinese Houses of Southest Asia)
โต๊ะไหว้ของบ้านโปษ์กี่ ตระกูลโปษยานนท์
ภาพหาดูยากภาพนี้ทำให้เห็นว่าภายในบ้านโปษ์กี่ บ้านจีนโบราณริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งธนบุรีนี้ มีห้องไหว้ที่ข้างในทำเป็นซุ้มไม้ขนาดใหญ่ลงรักปิดทองสวยงาม ตามแบบฉบับงานช่างแต้จิ๋วแท้ๆ เพราะต้นตระกูลโปษยานนท์อพยพมาจากเมืองแต้จิ๋วตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ (บ้านโปษ์กี่เป็นพื้นที่ส่วนบุคคล ไม่ได้เปิดให้คนทั่วไปเข้าชม)
(ขอบคุณรูปภาพจาก The apothecary of Singora)
โต๊ะไหว้ของร้านขายยาโบราณยู่เลี่ยง (เดิม) จ.สงขลา
สงขลาเป็นอีกหนึ่งเมืองท่าเก่าแก่ ที่มีชาวจีนฮกเกี้ยนอพยพเข้ามาอาศัยอยู่จำนวนมาก ในตึกแถวแบบจีนดั้งเดิมบนถนนนครนอกของเมืองเก่าสงขลา ยังมีบางบ้านที่คงสภาพเดิมๆไว้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากเท่าไหร่
โต๊ะไหว้ยังคงเป็นโต๊ะไหว้แบบจีนอย่างง่ายๆ ขนาดไม่ใหญ่โต เหมาะกับพื้นที่ของตึกแถว สองข้างแขวนป้ายคำกลอนตุ้ยเหลียน ด้านหน้าวางโต๊ะทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสเพื่อวางของไหว้แบบที่นิยมกันทั่วไปในหมู่ชาวฮกเกี้ยน
โต๊ะไหว้ของบ้านชินประชา จ.ภูเก็ต
บ้านชินประชาเป็นของขวัญแต่งงานที่ตันเนียวยี่ ผู้เป็นพ่อ สร้างให้กับลูกชาย ตันหม่าเสียง โดยใช้ช่างส่งตรงจากเมืองปีนัง ทั้งตัวบ้าน เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ รวมถึงโต๊ะไหว้จึงเป็นแบบเพอรานากันเหมือนอย่างที่ปีนังทั้งหมด
เฟอร์นิเจอร์เพอรานากันจะมีขนาดใหญ่โตกว่าเฟอร์นิเจอร์จีนทั่วไป และมีรายละเอียดงานตกแต่งมากมาย ทั้งงานปิดทองและงานฝังมุกทั้งชิ้น และนิยมใช้ไม้สัก ไม้คุณภาพดีในพื้นที่เป็นวัสดุหลัก
(ขอบคุณรูปภาพจากคุณ Aor Kamala ตึกรามบ้านช่อง)
โต๊ะไหว้ของบ้านหลวงบริรักษ์ประชากร ตรอกบ้านจีน จ.ตาก
จีนทองอยู่ หรือหลวงบริรักษ์ประชากร เป็นพ่อค้าชาวแต้จิ๋วที่ทำกิจการหลายอย่างทั้งที่เชียงใหม่ ไล่มาถึงนครสวรรค์ ฮ่องกงและซัวเถา และถวายงานในช่วงรัชกาลที่ 5 จนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ และนามสกุลโสภโณดร
บ้านเรือนไทยหลังใหญ่ริมน้ำแห่งนี้เป็นแนวผสมผสานไทย ตะวันตกและจีน ส่วนของโต๊ะไหว้ก็เช่นกัน คือเป็นซุ้มไม้แกะสลักลงรักปิดทองขนาดใหญ่คล้ายงานช่างแต้จิ๋ว แต่ลวดลายคล้ายงานตะวันตกและงานแบบล้านนา ทำให้ดูแปลกตา ผิดกับโต๊ะไหว้ที่พบในที่อื่นๆ
(ขอบคุณรูปภาพจาก ดร. ปัทม์ วงค์ประดิษฐ์)
โต๊ะไหว้ของห้องแถวย่านการค้าเก่าในชุมชนบ้านโพธิ์ จ.ตรัง
บ้านนี้เจ้าของบ้านเป็นลูกหลานชาวจีนแคะ แต่โต๊ะไหว้ก็มีซุ้มไม้อย่างแต้จิ๋ว ด้านบนแกะลายค้างคาว ถือเป็นลายมงคลที่ใช้ทั่วไปในศิลปะจีน เพราะคำว่าค้างคาวในภาษาจีนกลางมีเสียงพ้องกับคำว่าความสุข
27 มี.ค. 2560
29 ก.ย. 2560
15 มี.ค. 2567